Sunday, June 14, 2015

การศึกษาชุมชนเพื่อเป็นฐานรากในงานวิจัยและ/หรืองานพัฒนาอย่างยั่งยืน

27 – 29 มีนาคม 2558:
สร้างสรรค์จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องทักษะและกระบวนการศึกษาชุมชนเเพื่อเป็นฐานรากในงานวิจัย และ/หรืองานพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง ในโครงการฯ ซึ่งศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้งสิ้น 8 คน อาสาสมัครคุณสมศรี หล้าบุดดา และกระบวนกร 3 คนได้แก่ เจ้าหน้าที่    โครงการฯ คุณมัจฉา พรอินทร์ และคุณวีรวรรณ วรรณะ และคุณสุไลพร ซึ่งเป็นนักวิจัยอิสระ


กระบวนการเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และระดมความคาดหวัง ผู้เข้าร่วมฯส่วนใหญ่มีความคาดหวังอยากจะเรียนรู้กระบวนการทำวิจัย อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจชุมชนของตนเอง อยากพัฒนาทักษะการทำวิจัยและ/ศึกษาชุมชน อยากพัฒนาศักยภาพของคนตลอดจนอยากนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงานพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมบางคนที่คาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้กับการเรียนในระดับปริญญาตรี

เนื่องจากการจัดอบรมนี้ ได้จัดทำขึ้นทุกปี โดยโครงการฯมีความคาดหวังว่าอยากให้ผู้เข้าร่วมฯได้ทำความรู้จักชุมชนตนเองในหลากหลายมิติ และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนชนเผ่านพื้นเมืองให้มีทักษะและรากฐานในการทำงานวิจัย ศึกษาและ/หรือพัฒนาชุมชน 

เนื่อจากมีการจัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 จึงมีผู้เข้าร่วมฯที่ได้เรียนรู้กระบวนการเหล่านี้และผ่านการลงพื้นที่ ทำการศึกษาชุมชนตนมาแล้ว เช่น ภัทรครินทร์ จรุงสาคร (ปุ๊ซอ)เป็นผู้ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้จึงเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนเตรียมความพร้อมที่จะออกไปทำงานพัฒนาชุมชนของตนเอง อาจจะในฐานะครูหรือนักพัฒนาองค์กรเอกชน เนื่องจากเธอได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 

กระบวนกรทั้ง 3 คน อบรมและถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ ว่าด้วย ทักษะ เครื่องมือและกระบวนการศึกษาชุมชนและการทำวิจัย เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม



หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสฝึกใช้เครื่องมือที่ได้เรียนรู้จากกระบวนกร เช่น การเขียนแผนที่ชุมชน การฝึกสัมภาษณ์ การฝึก Focus group ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ฝึกลงพื้นที่จริงโดยใช้เครื่องมือที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมด โดยในการฝึกลงพื้นที่จริงครั้งนี้ได้ทดลองศึกษาชุมชนบ้านใหม่  อำเภอแม่ริม และได้นำเสนอผลการลงพื้นที่ เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาชุมชน



จากนั้น ในช่วงเวลาปิดเทอมนับตั้งแต่เดือนเมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงที่ผู้ผ่านการอบรม ได้ไปลงพื้นที่ เพื่อศึกษา/วิจัยชุมชนของตนเองจริงและเตรียมนำเสนอ ตลอดจนจัดทำรายงานการศึกษา/วิจัย ชุมชนของตนเอง

12 – 14 มิถุนายน 2558:
สร้างสรรค์ฯได้เปิดพื้นที่นำเสนอผลงานศึกษา/วิจัยชุมชน สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทักษะและกระบวนการศึกษาชุมชนเเพื่อเป็นฐานในงานวิจัย และ/หรืองานพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งสิ้น 8 คน มีกระบวนกร 3 คน คือเจ้าหน้าที่โครงการฯ 2 คนและคุณมะลิวรรณ เสนาวงษ์ ซึ่งเป็นนักวิจัย ประจำศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กระบวนการเริ่มต้นด้วยการพูดคุย ชี้แจงวัตถุประสงค์และนำเสนอผลงานการศึกษา/วิจัยชุมชน ทั้งนี้มีชุมชนที่ได้ศึกษาวิจัยได้แก่

- บ้านปู่แก้ว อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย อรอุมา เริงฤทัยวรรณ

- บ้านแม่อมกิ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดย สมชาย ศรีรักษ์

- บ้านปู่ทา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย สมพร ฟ้ากว้างไกล

- บ้านแม่ลามาหลวง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย สาริกา ทวีรัตนา

- บ้านเคราะบอ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพรพจน์ ไพรศิริทรัพย์

- บ้านปางทอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยดำรง ราตรีศีรีรักษ์

- บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย น้องแอร์และธนาวิน




กระบวนการนำเสนอ คือ

- ให้ผู้นำเสนอ นำเสนอผลการศึกษาชุมชนด้วย power point และเมื่อจบการนำเสนอให้ผู้นำเสนอได้พูดถึงความรู้สึก บอกจุดแข็ง จุดที่ต้องปรับปรุงและอื่นๆที่สำคัญในงานของตน

- ผู้เข้ารวม ถามตอบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

- กระบวนกร ช่วยกันตั้งคำถาม ตลอดจนชี้ให้เห็นจุดแข็ง จัดที่ต้องปรับปรุง พูดคุย ชวนวิเคราะห์ในประเด็นที่น่าสนใจและสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่ม



หลังจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้นำเสนองานศึกษาของตนแล้วกระบวนกร ชวนผู้เข้าร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสังเคราะห์สิ่งที่ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ 

จากฐานการศึกษาและวิจัยชุมชน เยาวชนที่ผ่านโครงการฯได้ระดมประเด็นที่ตนเองสนใจจนเกิดเป็นหัวข้อที่จะวิจัย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

- การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของเยาวชนกะเหรี่ยง

- เยาวชนกะเหรี่ยงในฐานะผู้สืบทอด และส่งต่อวัฒนธรรม มิติ ประเพณี ผ้าทอกะเหรี่ยงและเพลงในพิธิกรรม

- ผู้หญิง ประสบการณ์ เสียง การสร้างภาวะผู้นำกับการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ

- เสียง ชีวิตและประสบการณ์ของเยาวชนไร้รัฐเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม

สุดท้ายผู้เข้าร่วมได้แยกเข้าเข้ากลุ่มตามประเด็นที่ตนเองสนใจและพูดคุยสิ่งที่อยากทำตลอดจนวิเคราะห์ว่าหากจะให้งานเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง จะต้องมีสิ่งใดบ้าง และนำเสนอข้อมูลที่ได้ต่อกลุ่มใหญ่ 

กระบวนกรทั้ง 3 ร่วมกับสะท้อนบทเรียนที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ และทิ้งท้ายโจทย์ใหม่ คือ เราจะร่วมกันทำวิจัยในทั้ง 4 ประเด็น ได้อย่างไร ซึ่งจากข้อสรุป นำไปสู่ข้อเสนอแนะให้มีการประชุมวางแผนงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

สรุปบบทเรียนและปิดกิจกรรม


ข้อมูลเพิ่มเติม
จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2558  โครงการฯ ได้มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านโครงการ/กิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่างๆมากมาย รวมถึงการศึกษาชุมชนเเพื่อเป็นฐานในงานวิจัย และ/หรืองานพัฒนาอย่างยั่งยืน เฉพาะโครงการย่อยนี้ เรามีกลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษาทุนโครงการฯ ซึ่งรับทุนต่อเนื่องมาแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับมหาลัย ซึ่งส่วนใหญ่มีความความตั้งใจที่จะกลับไปทำงานพัฒนาชุมชนของตนเอง เราจึงได้วางรากฐานสำคัญสำคัญ คือ ทักษะ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนแนวคิด การศึกษาชุมชน/การทำวิจัยเพื่อพัฒนา สำหรับนักการศึกษา นักวิจัย/หรือนักพัฒนา ผู้ซึ่งจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนและสังคม 

Thursday, June 11, 2015

ผมจะสร้างบ้านดิน (งานเขียนชิ้นที่ 2 ของ กบสมชาย ศรีรักษ์)


ผมจะสร้างบ้านดิน

ตั้งแต่เล็กจนโตผมปรารถนาที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังเหมือนดังคนทั่วไปที่มักใฝ่ฝันจะมีบ้าน แต่บ้านที่ผมเคยเห็นส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ หรือบ้านที่ทําจากปูนซีเมนต์ ซึ่งที่กล่าวมานั้น ล้วนต้องใช้ต้นทุนในการสร้างสูงซึ่งก็ไม่รู้ว่าผมจะต้องใช้เวลากี่สิบปีกว่าจะมีบ้านได้สักหลัง

จนวันหนึ่งโครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนจัดอบรมเกษตรพึ่งตนเอง ที่พันพรรณ ซึ่งที่นั่นเองผมได้เรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองทําเกษตรและทําบ้านดิน ในส่วนของบ้านดินนั้นผมสึกตื่นเต้นและประหลาดใจเป็นอย่างมากที่ห็คนสร้างบ้านดินได้ใหญ่โตอลังการไม่แพ้ บ้านจัดสรร แต่ที่แตกต่างคือต้นทุนซึ่งใช้น้อยกว่าการสร้างบ้านทั่วไป

จากจุดนี้เองที่ทําให้ผมเห็นทางเลือกให้กับตัวเองและขอลั่นวาจาว่า ผมจะมีบ้านดินเป็นหลังแรกของหมู่บ้าน
หลังจากปีแรกของการเรียนรู้ที่สวนพันพรรณผมได้เรียนรู้บ้านดินผ่านการปฎิบัติร่วมกับโครงการฯ ที่ดินของโครงการฯในอําเภอสันกําแพงผมได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทําจนเข้าใจทุกขั้นตอนของการทําอิฐ ตั้งแต่การแช่ดินใส่ส่วนผสมต่างๆ เหยียบดินจนได้ที่แล้วขนดินไปเทลงแม่พิมพ์ กลายเป็นก้อนอิฐแล้วตากจนแห้ง 



ปีที่ 2 ของการจัดอบรมที่พรรณ ซึ่งจัดโดยโครงการ ผมและเพื่อนๆได้ไปเรียนรู้บ้านดินอีกเป็นครั้ง จบจากการอบรมเป็นช่วงปิดเทอมยาว พลังในตัวผมก็ลุกโชน ผมรีบเดินทางจากเชียงใหม่กลับสู่บ้านเกิดและเริ่มทำตามฝันของตนเอง ผมลงมือปั้นอิฐและพยายามทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในเวลา 1 เดือน ผมเริ่มต้นการปั้นอิฐโดยไม่ต้องใช้เงินทุนแม้แต่บาทเดียว ผมขุดดินหน้าบ้านให้เป็นบ่อเล็กๆ และยืมสายยางจากเพื่อนบ้านเพื่อต่อน้ำจากก๊อกน้ำมาสู่บ่อดิน ช่วงที่ผมเริ่มปั้นอิฐนั้นเป็นช่วงฤดูแล้ง ปลายเดือนเมษายน ซึ่งน้ำประปาภูเขาในหมู่บ้านไม่เพียงพอที่จะใช้ บ่อยครั้งที่น้ำไหลหนึ่งวันแล้วหยุดไปสามวัน ดังนั้นผมจึงรอน้ำจากก๊อกไม่ได้ ผมเลือกแก้ปัญหานี้โดยการไปแบกเอาน้ำจากโรงเรียนมาเทลงบ่อดิน(ซึ่งระยะทางค่อนข้างไกล) จากนั้นก็ไปขนฟางที่ชาวบ้านทิ้งแล้วนำมาสับเป็นท่อนเล็กๆ เพื่อให้เป็นส่วนผสมในการปั้นอิฐดิน ส่วนไม้แบบอิฐดินนั้นผมก็ขอให้ลุงช่างในหมู่บ้านทำให้ฟรี
เมื่อทุกอย่างพร้อมผมก็เริ่มเหยียบและปั้นอิฐจากดิน วันแรกผมย่ำดินที่หน้าหน้าบ้านเพียงลำพัง เมื่อมีคนเดินผ่านไปผ่านมา ก็มักจะตั้งคำถามถามผมว่า 
“ทำอะไรนะ?”
ผมตอบกลับไปว่า
ปั้นอิฐเพื่อจะทำบ้านดิน”
บางคนก็สนับสนุน ชื่นชมยินดีแต่ก็มีไม่น้อยที่จะพูดว่า
“มันจะได้เหรอ” 
“ แล้วจะสร้างยังไง” 
“สู้ปูนซีเมนต์ไม่ได้เหรอก” 
“เดี๋ยวก็พังหมด เสียเวลาเปล่า”
แน่นอน!!พวกเขาไม่เชื่อว่าเด็กหนุ่มตัวคนเดียวจะสร้างบ้านได้
สำหรับผมแล้ว ผมรู้ดีว่าผมไม่ได้จะบ้านเพียงลำพัง ผมมีเพื่อนและพี่ๆในโครงการที่คอยสนับสนุน และพร้อมจะสนับสนุนผมดังนั้นผมจึงไม่แยแสต่อคำพูดสบประมาทเหล่านั้น



 

นอกจากเพื่อนๆพี่ๆในโครงการฯ ผมยังมีครอบครัวที่คอยสนับสนุน คอยให้กำลังใจ รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระแป๋งตักน้ำของแม่ ผมได้เอามาทำเป็นกระแป๋งตักดินทำเอาแม่บ่นไปหลายชุด
หลังจากผมได้เริ่มทำดิน ก็ได้มีเด็กๆมาช่วยในช่วงหยุดเรียนบ้างเป็นบางครั้งหรือช่วงเลิกเรียน รวมทั้งน้องชายของผมเองก็จะมาช่วยขุดดินแต่โดยรวมแล้วผมจะทำคนเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะผมจำทำงาในช่วงเช้าตรู่และบ่ายเมื่อแดดร่มลมตก

การทำงานคนเดียวนั้นยากลำบากและเหนื่อยจริงๆโดยเฉพาะตอนที่ต้องยกไม้แบบ ซึ่งปกติจะยกกันสองคนแต่เมื่อไม่มีใครผมก็ยกคนเดียว ผมทำได้ประมาณวันละ 20-30ก้อน ใช้เวลาประมาณ4-5 ชั่วโมงต่อวัน  สภาพอากาศที่บ้านผมร้อนแต่ก็ร้อนน้อยกว่าในเมืองเชียงใหม่ อิฐจึงแห้งได้ช้ากว่า ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มเข้าสู่หน้าฝน บางครั้งฝนก็ตกลงมา ฝนจึงนับเป็นอุปสรรคผมต้องเผชิญ ผมเลือกที่จะแก้ปัญหานี้ โดยการย้ายไปทำอิฐใต้ถุนบ้าน เลือกตากอิฐในพื้นที่จำไม่โดนฝน ผมตากอิฐจนเต็มใต้ถุนบ้าน

บ่อยครั้งที่ผมเทดินเสร็จปุ๊ป เจ้าแม่ไก่ตัวโตก็จะเดินมาเหยียบอิฐดินของผมจนเป็นรูแล้วเดิน ทำหน้าตาเฉยจากไป เมือนมันคงจะอยากบอกผมว่า “นายกำลังมารุกล้ำอาณาเขตของฉันนะ”

เพราะเอาเข้าใจจริงพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นที่กกไข่ของมันแต่โดนผมเอาดินมาวางแทน ^__^ 
ช่วงแรกอิฐดินของผมมีขนาดใหญ่มากชั่งได้ก้อนละสิบสามกิโลกรัม ซึ่งดูแล้วอาจจะหนักเกินไป และคงลำบากเพื่อนๆมากเวลาที่ต้องยกอิฐเหล่านั้นขึ้นในขั้นตอนของการสร้างบ้านดิจ ผมจึงลดขนาดของอิฐลง ช่วงท้ายๆฝนเริ่มตกชุกขึ้น จนไม่สามารถทำงานต่อได้ ผมจึงตัดสินใจหยุดปั้นอิฐ
ถึงแม้ผมจะได้หยุดปั้นดินให้เป้นอิฐแล้วแต่ผมไม่ได้หยุดฝัน ผมฝันที่จะสร้างบ้านดินและปีหน้าผมก็จะปั้นอิฐดินเพิ่มอีก
ปีนี้ผมปั้นได้ราวๆ 200-300ก้อน ผมภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองเก่งมาก และผมจะเก่งขึ้นอีกถ้าได้สร้างบ้านดินจนสำเร็จและตอนนั้นผมจะสามารถบอกใครต่อใครได้ว่า  “ผมมีบ้านดิน ที่ทำด้วยตัวเอง”


สมชาย  ศรีลักษณ์ เป็นเยาวชนที่ได้รับสนับสนุนทุนการศึกษาตั้ง แต่ ระดับมัธยมศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงระดับ มหาวิทยาลัย ปัจจุบันศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยการพละศึกษาเชียงใหม่ นอกจากนี้สมชายร่วมกิจกรรมและได้ผ่านการฝึกอบรมต่างๆซึ่งจัดโดยโครงการฯ เกษตรและการพึ่งตนเองเป็นประเด็นที่สมชาย ให้ความสนใจเป็นพิเศษและฝันอันยิ่งใหญ่ของสมชายที่จะสร้าง บ้านด้วย ตนเองจะเป็นจริงในไม่ช้า เราได้วางแผนร่วมกันว่า  เราจะไปสร้างบ้านดินของสมชาย ในเร็ววันนี้



หมายเหตุ โครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน(สร้างสรรค์ฯ ) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กเยาวชนชาติพันธุ์ ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือก เราทำงานกับเด็กและเยาวชนกว่า 300 คน ในจำนวนนี้เราสนับสนุนทุนการศึกษาจำนวนกว่า 120 ทุน ตั้งต่ระดับมัธยมศึกษา ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมหาลัย

สนใจสนับสนุนสมทบทุนส่วนของวัสดุและอุปกรณ์ในการสร้างบ้านตลอดจนค่าอาหาร สำหรับอาสาสมัครซึ่งต้องการที่จะเรียนรู้การสร้างบ้านดินในครั้งนี้
สนับสนุนได้ที่บัญชี: นางสาวมัจฉา  พรอินทร์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 457-2-32422-8 ธนาคารกสิกรไทย สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่