ในปัจจุบันหมู่บ้านของผมมีการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชนั้นจะถูกนำเข้าสู่หมู่บ้านเป็นพันแกลอนในแต่ละปี พ่อขอผมก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรเหล่านั้น
เมื่อเข้าสู่ฤดูทำนา ทำไร่ พ่อรวมทั้งเกษตรกรคนอื่นๆในหมู่บ้าน จะไปลงชื่อเพื่อสั่งซื้อยาฆ่าหญ้า
ในปีนี้ พ่อเริ่มพ่นยาฆ่าหญ้าในท้องนาโดยมีผมเป็นลูกมือช่วยลากสายยาง พ่อฉีดพ่นยาโดยใช้เครื่องปั๊มที่มีสายยางยาวเพื่อฉีดพ่นไปทั่วท้องนา ในการพ่นยาฆ่าหญ้านี้ พ่อไม่ใยดี ไม่แม้แต่จะสวมถุงมือหรือหน้าหน้ากาก โดยพ่อให้เหตุผลที่ว่ามันอึดอัดและไม่จำเป็นขนาดนั้น เกษตรกรเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านก็มีความคิดความเชื่อไม่แตกต่างกัน
ผมเชื่อว่าพ่อและชาวบ้านรู้ว่ายามีอันตราย แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ พ่อและชาวบ้านปฎิบัติกับสารเคมีเหล่านั้นเสมือนมันไม่ได้มีอันตรายใดๆ
เมื่อฉีดพ่นเสร็จก็เพียงแค่แค่ล้างไม้ล้างมือตามปกติ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เพียงพอ และแน่นอนมันเสี่ยงต่อการตกค้างของสารเคมีในร่างกาย ผมเคยพยายามพูดและอธิบายถึงพิษภัยและอันตรายจากสารเคมีให้พ่อฟัง แต่มันไร้ผล อาจจะเพราะพ่อมองไม่เห็นผลกระทบในเชิงรูปธรรมและมองเป็นภัยไกลตัว คำพูดผมจึงเป็นเหมือนแค่ฉลากข้างขวดยาที่เตือนว่า “อันตราย” เท่านั้น
อย่างไรก็ดีผมมิได้ย่อท้อ ผมจะกลับมาหาข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะเป็นวิดีโอคลิ๊บ เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของสารเคมี ผมจะนำมาเปิดให้พ่อดู อย่างน้อยพ่อจะได้ตระหนักถึงความร้ายกาจของมันบ้าง
ปัญหาต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าหญ้าคือ เมื่อไม่มีหญ้า ไม่มีรากหญ้ายึดดินเข้าไว้ด้วยกันพอฝนตกหนักเข้าคันนาก็พัง เดือดร้อนพ่อต้องซ่อมคันนาทุกปี ซ่อมเสร็จไม่นานฝนมาคันนาก็พังเป็นปัญหาซ้ำซากแบบนี้ตลอดมา
พ่อวิเคราะห์ปัญหานี้ว่าตัวการคันนาพัง คือ พวกปู แมงกระชอน สัตว์ที่ชอบมุดคันนา ทำให้คันนาเป็นรูและทำให้คันนาพังในที่สุด พ่อบอกจะต้องฉีดยาไล่มันไปให้หมด
ผมเกิดคำถามว่า ก่อนหน้าที่จะใช้สารเคมีการอยู่ของสัตว์เล็กสัตว์น้อยเหล่านี้เป็นเรื่องปกติมิใช่หรือ แล้วไอ้ปัญหาการพังของคันนาเมื่อฤดูน้ำหลากหาใช่ปัญหาใหญ่ อะไรที่ทำให้พ่อมีมุมมองเปลี่ยนแปลงไป เอาเข้าจริงถ้าเอาสารเคมีมาไล่พวกสัตว์และแมลงเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อถึงฤดูน้ำหลากคันนาจะไม่พังหรือไร แล้วพวกมันจะไปอยู่ไหน มันอยู่ตรงนี้มานานและจะดำรงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่นาผมอยู่ในพื้นที่เดียวกับผืนน้ำและผืนป่า
จากการอบรมลุงโจ (โจน จันใด;วิทยากร) เคยบอกว่าหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีรากยาวและป้องกันการพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผมเชื่อว่าหากปลูกหญ้าแฝกจะสามารถลดการพังทลายของหน้าดินและคันนา ผมบอกพ่อแบบนั้นและคิดว่าเราน่าจะช่วยกันปลูกหญ้าแฝกที่คันนาของเรา ผมได้รับตอบจากพ่อว่า “ไม่มีใครเขาเอาหญ้ามาปลูกในนากันหรอก”
ผมรู้สึกว่าการสื่อสารเพียงแต่แนวคิดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับพ่อผม ผมจำเป็นจะต้องลงมือทำเพื่อให้พ่อได้เห็นกับตา
พ่อและชาวบ้านคงจะเหมือนคนอื่นๆทั่วไปที่ล้วนยึดมั่น ถือมั่นในความคิด ความเชื่อของตนเอง การเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อ จนนำไปสู่การปฏิบัตินั้น อาจต้องอาศัยทั้งความรู้ ข้อมูล ทักษะและการทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงประจักษ์
ผมวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักที่สารเคมีเข้ามาสู่วิถีทางการเกษตรว่า เป็นเพราะคำโฆษณาที่เกินจริง ว่ามันดีกว่า มันเบาแรงกว่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น เกษตรกรที่ได้ยินข้อมูลในทิศทางเดียวกัน ตลอดเวลาจึงถลำตัวเข้าสู่วงจรการใช้สารเคมีแบบเข้มข้น การถางหญ้าด้วยมือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดยาที่เบากว่า มันสมเหตุสมผลด้วยซ้ำไปที่จะใช้เงินซื้อสารเคมีมาฉีดพ่นแลกกับการใช้แรงงานที่จะต้องใช้ในการถางหญ้า
ทุกวันนี้ชาวบ้านรวมทั้งพ่อของผมล้วนกู้เงินมาเพื่อซื้อสารเคมี ทั้งเพื่อฆ่าหญ้า กำจัดแมลง รวมถึงสารเคมีต่างๆในการฉีดพ่นเพื่อเร่งผลผลิตในนา, ในไร่และในสวนของตน เมื่อผลผลิตออก ก็นำ ผลผลิตไปขาย แล้วนำเงินที่ได้มาใช้หนี้ที่ได้กู้มา ได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้างแล้วแต่ราคาในท้องตลาดในแต่ละปี พอถึงฤดูการผลิตมาถึงก็จะไปกู้เงินมาซื้อยา ขายผลผลิต ใช้หนี้ บ่อยครั้งที่เงินจากการผลผลิตไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้ด้วยซ้ำ จึงทำให้เกิดภาวะหนี้สิน นี่เป็นวัฏจักรที่คนในชุมชนของผมไม่สามารถออกจากวงจรหนี้ได้เลย
เมื่อเห็นปัญหาแบบนี้แล้ว แน่นอนผมอยากเปลี่ยนแปลงมัน เพื่อให้พ่อของผมและชาวบ้านได้หลุดออกจากวงจรการผลิตที่ใช้สารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและราคาผลผลิตก็ไม่เป็นธรรม ตลอดจนวงจรหนี้ ผมเชื่อองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์เรื่องเกษตรและการพึ่งตนเองของผมจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับครอบครัวและชุมชนของผมได้ในอนาคตนี้
สมชาย ศรีรักษ์ เป็นเยาวชนที่ได้รับสนับสนุนทุนการศึกษาจากโครงการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน(สร้างสรรค์ฯ) ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยการพละศึกษาเชียงใหม่ นอกจากนี้สมชายร่วมกิจกรรมและได้ผ่านการฝึกอบรมต่างๆซึ่งจัดโดยโครงการฯ เกษตรและการพึ่งตนเองเป็นประเด็นที่สมชาย ให้ความสนใจเป็นพิเศษ
No comments:
Post a Comment